เป็นแบบนี้หรือเปล่า!! เปิดสาเหตุ ลูกท้อ-หมดพลังไม่อยากทำการบ้าน

เป็นธรรมดาที่เหล่าลูกน้อย อาจจะบ่นเบื่อรู้สึกเกี่ยงงาน ไม่อยากทำการบ้าน หรือภาระงานที่ได้รับมอบหมาย โดยทางเราได้รวบรวมสาเหตุปัจจัย ที่อาจจะส่งผลต่อลูกน้อยไม่อยากทำการบ้าน ดังนี้  

  1. มีอุปสรรคขัดขวาง

มีเหตุการณ์หรืออุปสรรคอะไรก่อนหน้า ที่ทำให้เด็กไม่สามารถโฟกัส หรือทำการบ้านให้เสร็จตามเวลาที่เหมาะสมได้ 

  1. สภาพแวดล้อมในการทำการบ้านของเด็กไม่เหมาะสม

โดยถือเป็นเรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนมองข้ามไป แต่อันที่จริงแล้ว แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา หากว่าต้องถูกบังคับให้ทำงานที่ยากหรือน่าเบื่อหน่าย ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ร้อน แคบ อึดอัด มีเสียงดัง มีกลิ่นเหม็น และอื่น ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเฉื่อยชาเกินกว่าจะทำงาน (ที่อาจจะไม่อยากทำอยู่แล้ว) ให้สำเร็จได้ยากยิ่งขึ้น

  1. เด็กรู้สึกท้อ เหนื่อย ไม่มีแรงดลใจให้ทำ

พฤติกรรมเฉื่อยชานี้ เป็นพฤติกรรมปกติของเด็กหรือไม่ ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูอาจจะต้องลองสำรวจประวัติการเรียนของเด็กแต่ละคนก่อน เพื่อที่จะได้ทราบว่า สาเหตุของความเฉื่อยชานั้นเกิดขึ้นจากอะไร เพราะเป็นไปได้ว่า บทเรียนที่ยากขึ้นในแต่ละระดับชั้น อาจจะเป็นจุดที่ทำให้เด็กรู้สึกท้อแท้ได้ ซึ่งทางผู้ปกครองอาจมีส่วนร่วมในการทำการบ้านของเด็กๆ ร่วมใช้เวลาอธิบายพูดคุยและค่อยๆ ร่วมทำการบ้านไปด้วยกัน

  1. เด็กมีความต้องการพิเศษ หรือข้อจำกัดอื่น ๆ

ลูกอาจมีความต้องการพิเศษบางอย่าง ที่ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานนั้น ๆ ให้สำเร็จ เพราะหลาย ๆ ครั้ง งานที่เรามองว่าง่าย การบ้านที่เราอาจจะเห็นว่า ไม่เห็นจะมีอะไรซับซ้อน อาจจะมีบางจุดที่แม้จะเล็กน้อย แต่ก็ส่งผลต่อการทำชิ้นงานให้สำเร็จได้ โดยผู้ปกครองอาจต้องทำการสอบถามและค่อยๆ ทำความเข้าใจลูกน้อยไปด้วย

  1. มาจากบทเรียน หรือชิ้นงานที่ได้รับ

ต้องลองสำรวจดูว่าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นกับลูกเราเพียงคนเดียวหรือไม่ หรือเกิดขึ้นกับเด็กหลาย ๆ คนที่ต้องทำงาน/การบ้านแบบเดียวกัน ข้อนี้อาจจะต้องอาศัยข้อมูลจากเครือข่ายพ่อแม่ด้วยกันเอง เพราะบางครั้ง ลูกที่ดูเหมือนจะขี้เกียจของเรานั้น ก็อาจจะเป็นลูกที่ขี้เกียจเหมือน ๆ กันเด็กบ้านอื่น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว อาจจะต้องมาดูกันที่ลักษณะของบทเรียน คุณครูผู้สอน การบ้าน หรือชิ้นงานที่เด็ก ๆ ได้รับกันอีกที เพื่อปรับความเข้าใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน

 

ที่มา : https://www.trueplookpanya.com/

#LearnEducation #LearningSolutionForAll