อยู่กันอย่างไร้ปัญหา! เปิดมารยาททางสังคมในห้องเรียนที่นักเรียนพึงมี

       การอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากเป็นกลุ่ม ย่อมต้องมีกระทบกระทั่งไม่ว่าวัยไหน ๆ หรือสังคมใด ฉะนั้นการปรับตัวและมารยาททางสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยบทความนี้ขอนำเสนอมารยาททางสังคม-มารยาททางสังคมในห้องเรียนที่นักเรียนพึงมี

          มารยาท หมายถึง แนวทางในการปฏิบัติหรือการแสดงวาจา ภาษา ท่าทาง และพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาให้ปรากฏแก่สายตาของผู้อื่นคนทั่ว ๆ ไปจะมีมารยาทดีมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับการฝึกอบรมของแต่ละ
ครอบครัว บุคลิกภาพของแต่ละคนจะบอกให้รู้ว่าคนคนนั้นมีความสุภาพ อ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ และมี
ระเบียบวินัยเพียงใด ทั้งนี้ มารยาทแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ มารยาทโดยทั่วไป และมารยาทตามกาลเทศะ

สำหรับนักเรียนนั้น การบ่มเพาะมารยาทตั้งแต่เด็กนั้น ถือเป็นเรื่องที่พึงมี มารยาททางสังคมจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรสอนให้นักเรียนตั้งแต่วัยเริ่มแรกได้เรียนรู้ และปลูกฝังให้ปฏิบัติ โดยเฉพาะในสังคมไทย ซึ่งค่อนข้างมีพิธีรีตอง โดยมารยาททางสังคมของไทยที่ควรเรียนรู้นั้น มีดังนี้

การอบรมให้เด็กเป็นคนสุภาพเรียบร้อยอ่อนน้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
        1.1 ทางกาย ได้แก่ การมีกิริยามารยาทที่เรียบร้อยในการพูด นั่ง เดิน ยืน ต้องไม่ให้พรวดพราดถูกผู้อื่น หรือถูกสิ่งของล้มหรือดังโครมคราม เมื่อผู้ใดกำลังดูอะไรอยู่ไม่ต้องยืนบังหน้าขวางสายตาเขา ไม่เดินตัดหน้าผู้อื่นในระยะใกล้ชิด ถ้าจำเป็นต้องทำ ดังนั้นก็ต้องกล่าวคำขอโทษเขาก่อน อย่ายืนค้ำศีรษะคน อย่าเดินเสียดสีกระทบกระทั่งผู้อื่น อย่าหยิบสิ่งของข้ามกรายผู้อื่น ไม่โยนสิ่งของให้ผู้อื่น
        1.2 ทางวาจา ได้แก่ การระวังคำพูด ต้องรู้จักใช้เสียงให้นุ่มนวลออ่นหวานอย่าใช้เสียงตวาด กระโชกกระชาก หรือพูดห้วน ๆ ต้องไม่กล่าวคำหยาบ หรือพูดกับผู้ใดก็อย่าดังจนเกินไป ควรพูดให้ดังพอสมควร ในขณะที่ผู้อื่นพูดเราต้องไม่พูดสอด หรือแย่งพูดให้เขาพูดจนจบ เสียก่อนแล้วจึงพูด และคนที่พูดก่อนนั้นก็ต้องรู้จักหยุดพูดให้คนอื่นเขาพูดบ้าง อย่าพูดเสียคนเดียวในเวลาที่คนอื่น ๆ เขาต้องการความเงียบเพื่อทำงานหรือคิดตริตรอง
        1.3 ทางใจ ได้แก่ การไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน ไม่แสดงความกำเริบหยิ่งยโส ถ้าพบสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้โกรธก็ต้องไม่แสดงความโกรธออกมาให้เห็น ต้องไม่บันดาลโทสะจนเสียกิริยา

การพูด
ควรใช้วาจาที่สุภาพในการพูดกับบุคคลอื่น รู้จักกาลเทศะในการพูด ไม่พูดประชดประชัน หรือพูดแทรกขณะที่ผู้อื่นกำลังสนทนา รู้จักพูดขอบคุณเมื่อได้รับสิ่งของหรือการช่วยเหลือ และรู้จักพูดขอโทษ เมื่อทำผิดพลาดต่อบุคคลอื่น นอกจากนี้ ในการพูดกับผู้ที่อาวุโสกว่าควรมีหางเสียง คือลงท้ายด้วยคำว่า ครับ สำหรับผู้ชาย และลงท้ายประโยคด้วยคำว่า ค่ะ หรือ คะ สำหรับผู้หญิง

การทักทาย
โดยแต่ละประเทศนั้น มีรูปแบบการทักทายที่แตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกาใช้การจับมือ ฝรั่งเศสใช้การชนแก้ม ญี่ปุ่นใช้การโค้งคำนับ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยจะทักทายกันด้วยการไหว้และการกล่าวคำว่าสวัสดี การไหว้ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 : ไหว้ระดับหน้าอก นิ้วชี้จรดปลายคาง สำหรับไหว้เพื่อนฝูงหรือบุคคลทั่วไป

ระดับที่ 2 : ไหว้ระดับใบหน้า นิ้วชี้จรดระหว่างคิ้ว สำหรับไหว้ผู้อาวุโสหรือผู้มีพระคุณ

ระดับที่ 3 : ไหว้ระดับศีรษะ นิ้วชี้จรดเหนือหน้าผาก สำหรับการไหว้พระรัตนตรัย

ซึ่งการเลือกใช้การไหว้ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลนั้น นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของผู้ปฏิบัติที่มีต่อผู้อื่น และเป็นการรักษาวัฒนธรรมอันดีอีกด้วย

การแต่งกาย
ประเทศไทยค่อนข้างให้ความสำคัญกับการแต่งกายให้ถูกกับกาลเทศะ หรือถูกกับงาน

การนั่ง การยืน และการเดิน
การนั่งถือเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงบุคลิกภาพที่ดี การนั่งตัวตรงด้วยความสำรวม ไม่ประเจิดประเจ้อ ไม่นั่งหลังโก่ง เท้าคาง หรือแคะแกะเกาผิวหนังขณะที่นั่งอยู่กับบุคคลอื่น เป็นมารยาทที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติดูดีในสายตาผู้อื่น นอกจากนี้ควรนั่งเก้าอี้ในลักษณะของการนั่งเต็มเก้าอี้ ไม่โยกเก้าอี้หรือนั่งเก้าอี้สองขา ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตราย

การยืน ในกรณีที่ต้องยืนเคารพธงชาติ หรือยืนคุยกับบุคคลอื่น ควรยืนตัวตรง ไม่โยกตัวไปมาหรือทำตัวยุกยิก สร้างความรำคาญต่อคู่สนทนาหรือผู้พบเห็น

การรับประทานอาหาร
การรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น จะต้องนั่งทานด้วยความเรียบร้อย ไม่ใช้ช้อนหรือส้อมในการเคาะหรือขูดจาน ไม่ตักคำใหญ่จนเกินไป ควรแบ่งกับข้าวเป็นชิ้นพอดีคำก่อนจะตักรับประทาน ควรมีช้อนกลางสำหรับตักกับข้าวเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากการรับประทานอาหารร่วมกัน และไม่ควรพุดคุยกันขณะกำลังเคี้ยวอาหาร

การใช้สมาร์ทโฟน
ปัจจุบันนี้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน กลายเป็นของประจำตัวในการใช้ชีวิตของคนยุคสมัยนี้ ซึ่งมารยาทของการใช้เครื่องมือสื่อสารนั้น ควรจะต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ เช่น เมื่อต้องติดต่อสื่อสาร ควรเลี่ยงหรือขออนุญาตผู้ร่วมสนทนาออกไปคุยข้างนอก ไม่ควรรับและคุยขณะที่สนทนากับบุคคลอื่น และไม่ควรเล่นสมารทโฟน ขณะที่พูดคุยกับบุคคลอื่น หรือขณะที่บุคคลอื่นกำลังพูดคุยด้วย รวมถึงไม่ควรแอบดูข้อมูลในสมาร์ทโฟนที่ไม่ใช่ของตัวเอง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น

เคารพสิทธิผู้อื่น
ครูผู้สอนควรปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง ไม่วิพากษ์วิจารณ์ล้อเลียนรูปร่างหน้าตาผู้อื่น เคารพและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช้สิทธิของตัวเองไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย

ที่มา : http://pengpinsuwan.blogspot.com/, https://www.trueplookpanya.com/
#LearnEducation #LearningSolutionForAll