การศึกษาไทย
สำหรับเรื่องการศึกษาในปัจจุบันนั้น เป็นยุคสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง มีการเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ โดยสามารถให้ผู้ที่ศึกษานั้น สามารถค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาของแต่ละสถานศึกษา เพื่อให้ก้าวทันโลก
สำหรับการศึกษาไทย
ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นิยาม ความหมายของการศึกษา มีความหมายว่า “กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”
และมาตรา 15 ได้กำหนดระบบการศึกษา ในการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
การศึกษาในระบบ (Formal Education) คือ การศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน ที่สำคัญ ในการดำเนินกิจกรรมทางการศึกษานั้น เกิดขึ้นทั้งที่ห้องเรียน รวมถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียน บ้าน หรือการเรียนรู้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยยึดถือเอาห้องเรียนเป็นฐานกลางของการจัดการศึกษา การศึกษาจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาคน และการที่จะพัฒนาคนให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการนั้นต้องอาศัยผลรวมของกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กัน
การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) เป็นการศึกษาที่ไม่มีรูปแบบตายตัว ไม่มีหลักสูตรและระยะเวลาในการเรียนที่แน่นอน โดยการจัดการศึกษาในรูปแบบนี้เป็นการศึกษาองค์ความรู้ต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์ตรงที่ได้ประสบในชีวิตประจำวัน โดยการศึกษาตามอัธยาศัยจะกลายเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาตลอดชีวิต จะเห็นได้ว่าการศึกษามีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับผู้ศึกษาว่าจะเลือกวิธีใดและความรู้แบบใด ที่เหมาะสมกับตัวผู้เรียน ทั้งนี้สามารถนำมาใช้ให้ได้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด การศึกษาหาความรู้จึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่การอยู่ในสถานศึกษาเท่านั้น เพราะด้วยเทคโนโลยีช่วยให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายยิ่งขึ้นนั่นเอง